สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกก็คือ เรื่องของอาหาร ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ของคาวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงของหวานอย่าง “ขนมไทย” ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์ ซึ่งสะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ผ่านกรรมวิธีการทำอันประณีตและพิถีพิถัน เมื่อผสานเข้ากับวัตถุดิบจากธรรมชาติจึงทำให้ได้รสชาติที่อร่อย หวานมันและกลมกล่อม ถูกปากนักชิมทั้งไทยและเทศ
แต่สำหรับใครที่สงสัยว่าขนมไทยมีกี่ชนิด บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับประเภทขนมไทย พร้อมแนะนำลิสต์ขนมไทยแสนอร่อยที่ไม่ลองไม่ได้แล้วมาฝาก !
ขนมไทยมีกี่ชนิด อะไรบ้าง ?
ประเภทขนมไทยสามารถแบ่งได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งในที่นี้ เราจะขอแบ่งตามวิธีการทำให้สุก ซึ่งเป็นการแบ่งประเภทขนมไทยที่แพร่หลายที่สุด โดยจะมีทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่
1. ขนมไทยประเภทกวน
ขนมประเภทนี้ต้องผ่านกรรมวิธีการกวนในกระทะทอง ตั้งแต่เป็นน้ำเหลว ๆ จนงวด ให้เนื้อเนียนละเอียด จากนั้น เทใส่แม่พิมพ์หรือถาดแล้วตัดเป็นชิ้น ๆ ขนมไทยที่อยู่ในประเภทนี้จะมีตั้งแต่ ตะโก้ กะละแม ขนมเปียกปูน ผลไม้กวนต่าง ๆ ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง
2. ขนมไทยประเภทนึ่ง
ขนมประเภทนี้ใช้ความร้อนจากไอน้ำในการทำให้ขนมสุก มีอุปกรณ์หลักคือลังถึง ถ้วยตะไล ถาดหรือแม่พิมพ์ แล้วห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าวก็ได้ ตัวอย่างขนมไทยประเภทนึ่ง เช่น ขนมกล้วย ขนมชั้น ขนมตาล ข้าวต้มผัด ขนมเทียน
3. ขนมไทยประเภทเชื่อม
ขนมประเภทนี้ใช้กรรมวิธีการใส่ส่วนผสมลงไปต้มในน้ำเชื่อมที่กำลังเดือดจนสุก ทำให้มีรสหวาน เป็นหนึ่งในประเภทขนมไทยที่ได้รับความนิยมมากทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง กล้วยเชื่อม จาวตาลเชื่อม หรือผลไม้เชื่อมอื่น ๆ
4. ขนมไทยประเภททอด
ขนมประเภทนี้ใช้ความร้อนจากการทอดในน้ำมันจนสุก ทำให้มีเนื้อสัมผัสที่กรอบ เป็นของกินเล่นเพลิน ๆ ได้แก่พวกขนมไทยทอด ๆ ทั้งหลาย เช่น กล้วยทอด ข้าวเม่าทอด ขนมนางเล็ด ขนมฝักบัว ขนมกง ขนมค้างคาว ซึ่งขนมไทยประเภทนี้ได้รับความนิยมในการซื้อเป็นของฝากแก่กันด้วย
5. ขนมไทยประเภทอบ
ขนมประเภทนี้ใช้อุณหภูมิความร้อนในการอบจนขนมสุก อาจไม่ต้องถึงกับเอาเข้าเตาอบก็ได้ แต่อาจใช้ความร้อนบนเตาเพื่อทำให้ขนมสุก ก็จัดรวมอยู่ในประเภทนี้ด้วยเหมือนกัน เช่น ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมหม้อแกง ขนมทองม้วน สาลี่แข็ง
6. ขนมไทยประเภทต้ม
ขนมประเภทนี้ต้องใส่ส่วนผสมลงไปในหม้อหรือกระทะ แล้วต้มน้ำให้เดือด เมื่อขนมสุกแล้วค่อยตักขึ้นมา คลุกหรือโรยด้วยมะพร้าว เช่น ขนมต้ม ขนมเหนียว อีกทั้งยังรวมถึงขนมประเภทที่ต้มกับน้ำกะทิ บางทีก็ผสมน้ำเชื่อม และบางทีก็ใส่แป้งผสมให้เป็นขนมเปียก เช่น บัวลอยน้ำกะทิ ลอดช่อง ซ่าหริ่ม กล้วยบวชชี
ขนมไทยชื่อดังจาก 4 ภาค ที่คนไทยไม่ควรพลาด !
1. ภาคเหนือ
- ข้าวแคบ ขนมไทยประเภททอด มีลักษณะเป็นแผ่นแป้งบางกรอบ ทำจากแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งข้าวเหนียว ผสมด้วยน้ำตาลกับเกลือ
- ข้าววิตู หรือข้าวเหนียวแดง เป็นขนมไทยพื้นบ้านของล้านนา โดยจะนึ่งข้าวเหนียวให้สุก แล้วนำไปตั้งไฟกวนกับน้ำอ้อย พอได้ที่แล้วก็ตัดเป็นชิ้น ๆ โรยงาขาว
- สาคูไส้หมู มีลักษณะกลม ๆ คล้ายลูกบอล เนื้อแป้งเหนียวนุ่ม ห่อด้วยไส้หมูสับที่ผัดจนสุก นิยมทานคู่กับน้ำจิ้ม
2. ภาคอีสาน
- ข้าวต้มมัด ขนมไทยประเภทนึ่ง ทำจากข้าวเหนียวผสมน้ำกะทิ ห่อด้วยใบตอง มัดด้วยเชือก แล้วนำมานึ่งจนสุก
- ข้าวโป่ง ขนมไทยประเภททอด ทำจากข้าวเหนียวแช่น้ำ คั่วจนสุก บดให้ละเอียด จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วเอามาทอดให้พอง
- ข้าวเหนียวนึ่งจิ้มน้ำผึ้ง เป็นขนมไทยประเภทนึ่ง โดยจะนึ่งข้าวเหนียวให้สุก แล้วนำไปจิ้มกินกับน้ำผึ้ง
3. ภาคกลาง
- ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หากถามถึงประเภทขนมไทย จะไม่นึกถึงขนมตระกูลทองคงไม่ได้ เพราะทั้ง 3 ทองนี้เป็นขนมไทยโบราณที่นิยมทานคู่กัน ทำจากไข่แดง กะทิ น้ำตาล และใบเตย
- ข้าวเหนียวมูน ขนมไทยประเภทนึ่ง ทำจากข้าวเหนียวผสมกะทิ เกลือ และน้ำตาล แล้วนำไปนึ่งจนสุก
- ข้าวตังหน้าตั้ง ขนมไทยโบราณประจำภาคกลาง มีลักษณะเป็นข้าวตังเม็ดกลม ๆ กรอบ ๆ รวมกันเป็นแผ่นพอดีคำ ราดด้วยน้ำจิ้มหวาน
4. ภาคใต้
- ขนมโค หรือ ตือปง นอแน เป็นขนมไทยโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นทางภาคใต้ มีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ คล้ายขนมต้ม คลุกด้วยมะพร้าวอ่อน
- ขนมอาโป๊ง หรือขนมปำจี ขนมไทยพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต มีลักษณะคล้ายขนมโตเกียว มีทั้งแบบกรอบและแบบนุ่ม
- ขนมลา ทำจากแป้งข้าวเจ้า มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ นิยมใช้ถวายพระสงฆ์ในงานบุญ
ได้รู้กันไปแล้วว่าขนมไทยมีกี่ชนิด แถมได้เห็นอีกด้วยว่าแต่ละภาคของประเทศไทยล้วนมีแต่ขนมไทยอร่อย ๆ ที่มีเอกลักษณ์และน่าลิ้มลอง หากใครกำลังมองหาร้านคาเฟ่ขนมไทยย่านชิดลม ห้างสรรพสินค้า The Mercury Ville @ Chidlom มีร้านอาหารและคาเฟ่มากมายที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้งในด้านความอร่อยและคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงการบริการที่น่าประทับใจ ทั้งยังเดินทางสะดวก จาก BTS ชิดลมเพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้น !
ข้อมูลอ้างอิง
- ชนิดของขนมไทย. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567. จาก https://thebeanerybistro.com/ชนิดของขนมไทย/.