หากพูดถึงความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหารสักเมนู เชื่อว่าประเทศญี่ปุ่นคงเป็นประเทศแรก ๆ ที่หลายคนจะนึกถึง ด้วยความขึ้นชื่อถึงความพิถีพิถันในการทำอาหาร ที่สามารถเห็นได้จากเมนูที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในแต่ละฤดูเพื่อให้ตอบโจทย์กับวัตถุดิบและการใช้ชีวิตในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งบางเมนูคนไทยก็ไม่คุ้นชินมากนัก สำหรับผู้ที่อยากรู้จักอาหารฤดูหนาวของญี่ปุ่นให้มากขึ้น วันนี้เราจะพาไปเปิดโลกกัน พร้อมไปทำความรู้จักกับอาหารประจำฤดูหนาวญี่ปุ่นที่ใครได้ลิ้มลองก็มักจะติดใจ!
1. โอเซจิ เรียวริ (Osechi Ryori)
โอเซจิ เรียวริ เป็นสำรับอาหารประจำฤดูหนาวญี่ปุ่น สำหรับเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจะถูกจัดเรียงอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมที่ซ้อนกันทั้งหมด 3-4 กล่อง ที่แม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ยังคงรักษาความดั้งเดิมเอาไว้ โดยภายในจะประกอบด้วยอาหารจานเล็กหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละจานล้วนมีความหมายที่ดีเหมาะสมกับการทานในวันปีใหม่ เช่น
- กุ้งเคี่ยว หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง
- ผักตุ๋น หรือเห็ดตุ๋น หมายถึงความสม่ำเสมอ
- ของขบเคี้ยวและผักดอง หมายถึงการเริ่มต้นใหม่
- ปลาแฮร์ริ่งห่อสาหร่ายคอมบุต้มซีอิ๊ว หมายถึงความก้าวหน้า
- ไข่ปลาบิน หมายถึงโชคดี
2. โซบะข้ามปี โทชิโคชิโซบะ (Toshikoshi Soba)
โทชิโคชิโซบะ เป็นโซบะเส้นสดที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันในวันส่งท้ายปีเก่าหรือวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยคำว่า “โทชิโคชิ” หมายถึง “ข้ามปี” และ “โซบะ” หมายถึง “บะหมี่” จึงเป็นที่มาของชื่อ “โทชิโคชิโซบะ” ที่แปลได้ว่า “โซบะข้ามปี” ซึ่งชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าการรับประทานโทชิโคชิโซบะในวันส่งท้ายปีเก่าจะนำพาความโชคดีและอายุยืนยาวมาสู่พวกเขา เนื่องจากเส้นโซบะมีความยาว จึงเปรียบเสมือนการเริ่มต้นใหม่และทิ้งสิ่งไม่ดีไว้ในปีที่กำลังจะผ่านไป นอกจากนี้ โทชิโคชิโซบะมักรับประทานคู่กับท็อปปิ้งต่าง ๆ ที่มักมีความหมายที่ดีแฝงอยู่ เช่น
- สาหร่ายวากาเมะ หมายถึงความอุดมสมบูรณ์
- ต้นหอม หมายถึงความก้าวหน้า
- ไข่ต้ม หมายถึงความโชคดี
- คามาโบโกะ หมายถึงความมั่งคั่ง
3. อาหารจากโมจิ
โมจิ เป็นหนึ่งในอาหารฤดูหนาวของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยม เพราะมีความหมายว่ามีกินมีใช้ และมีความเชื่อว่าโมจิเป็นอาหารที่ได้รับมาจากเทพเจ้า คนญี่ปุ่นจึงนิยมทานเมนูอาหารที่มีโมจิเป็นส่วนประกอบ เช่น
- โอโซนิ (Ozoni)
เป็นซุปหม้อไฟญี่ปุ่นที่มีโมจิเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงผักและเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เห็ด แครอท หัวไชเท้า ไก่ หมู โดยนิยมรับประทานในช่วงเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าการทานโอโซนิในวันส่งท้ายปีเก่าจะนำพาความโชคดีและอายุยืนยาวมาสู่ผู้ทาน
- ถั่วแดงต้มใส่โมจิ (Zenzai)
เป็นอาหารประจำฤดูหนาวญี่ปุ่นที่ทำจากถั่วแดงต้มกับน้ำเชื่อม ซึ่งมักใส่โมจิย่าง หรือเกาลัดเป็นเครื่องเคียง นิยมทานแบบร้อน ๆ ในฤดูหนาว เนื่องจากถั่วแดงมีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และยังมีความเชื่อกันว่าจะนำพาโชคดีและความสุขมาสู่ผู้รับประทาน
4. โอเด้ง (Oden)
โอเด้ง ถือเป็นหนึ่งในอาหารประจำฤดูหนาวญี่ปุ่นที่บ่งบอกว่าหน้าหนาวได้มาถึงแล้ว โดยจะเริ่มมีการวางจำหน่ายพร้อมกันตามร้านสะดวกซื้อและแผงลอย โดยโอเด้งจะเป็นลูกชิ้นหลากประเภท ทั้งเนื้อปลา เต้าหู้ หัวบุก ไข่ต้ม ในน้ำซุปร้อน โดยเชื่อว่าการรับประทานโอเด้งจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและช่วยให้หลับสบาย
5. อาหารหม้อร้อน
นาเบะ (Nabe) สุกี้ยากี้ (Sukiyaki) หรือชาบูชาบู (Shabu Shabu) คืออาหารประเภทหม้อไฟที่ถือเป็นอาหารฤดูหนาวของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสามารถให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย อีกทั้งยังได้ใช้เวลาร่วมกันภายในครอบครัว โดยชาวญี่ปุ่นนิยมกินเมนูหม้อไฟที่บ้าน โดยซื้อวัตถุดิบมาปรุงแต่งสิ่งที่อยากกินลงไป ซึ่งความแตกต่างของเมนูหม้อร้อนทั้ง 3 ชนิดนี้ ได้แก่
- นาเบะ (Nabe)
เป็นหม้อร้อนญี่ปุ่นที่มีชื่อเต็มว่า Nabe-Mono โดยจะมีน้ำซุปหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นโชยุ มิโซะ ซุปไก่ ซุปหมู หรือซุปกิมจิ และมีวิธีการทานคือการต้มทุกอย่างพร้อมกันในหม้อเดียว
- สุกี้ยากี้ (Sukiyaki)
เป็นหม้อไฟญี่ปุ่นมีน้ำซุปสีดำ รสชาติหวานนำ เข้มข้น กลมกล่อม โดยจะทำการย่างเนื้อและผักให้สุกในระดับหนึ่ง แล้วเติมน้ำซุปดำลงไปต้ม
- ชาบูชาบู (Shabu Shabu)
เป็นหม้อไฟญี่ปุ่นจากน้ำซุปใสคอมบุดาชิ จึงมีรสชาติอ่อนกว่าสุกี้ยากี้ ซึ่งวิธีกินจะค่อย ๆ จุ่มลวกเนื้อทีละชิ้นลงในหม้อ
อยู่เมืองไทยก็ลิ้มรสชาติความอร่อยกับอาหารฤดูหนาวของญี่ปุ่นได้! กับบุฟเฟ่ต์ชาบูพรีเมียมสไตล์ญี่ปุ่นต้นตำรับจากโอซาก้า ที่ Kagonoya แถวชิดลม สาขา The Mercury Ville @ Chidlom เดินทางง่าย ใกล้ BTS สถานีชิดลม ทางออก 3 แล้วเดินทางเชื่อมเข้าห้างได้เลย หรือจะขับรถมาก็มีที่จอดรถพร้อมให้บริการ