ในสังคมสมัยใหม่และค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะบอกว่า สำหรับหลายๆ คนแล้วนั้นการขีดเส้นแบ่งระหว่างชีวิตทำงานกับชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจนอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป หลายคนยอมทุ่มเทเวลา ลงทุนแรงกาย แรงใจเพื่อตอบสนองเป้าหมาย เพื่อแลกกับบันไดขั้นถัดไปสำหรับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่สำหรับอีกหลายๆ คน นั่นคือบันไดขั้นแรกสำหรับการย่างก้าวเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน
‘Quiet Quitting’ คือแนวคิดในการทำงานที่เปรียบเสมือน ‘การลาออก’ จากแนวคิดที่ว่าการทำงานหนักเท่ากับความสำเร็จ โดยที่คำว่าทำงานหนักในที่นี้หมายถึงการทำงานมากเกินขอบเขตหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อหน้าที่การงานจนไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวไว้ได้
จริงๆ แล้ว ‘Quiet Quitting’ ฟังดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่หลังจากผู้ใช้งาน Tiktok @zaidleppelin ได้โพสต์คลิปที่กลายเป็นไวรัลเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเขาได้ให้คำจำกัดความคำว่า ‘การลาออกเงียบ’ นี้หมายถึง “การหันหลังให้กับวัฒนธรรมคลั่งงานของชาวอเมริกัน”
ผลสำรวจจาก Gallap บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาทางธุรกิจให้กับองค์กรชั้นนำต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาพบว่ากลุ่มสำรวจมีความเครียดจากการทำงานเพิ่มขึ้นจาก 38% ในปี 2019 เป็น 43% ในปี 2020 ซึ่งตัวเลขนี้อาจชี้ให้เห็นถึงความคาดหวังในการทำงานแบบ WFH ที่สูงขึ้นในช่วงปีที่ Covid ระบาด และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่ยังคงต่อยอดมาถึงปัจจุบันที่ถึงแม้สถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มกลับคืนสู่รูปแบบปกติแล้วก็ตาม
หากให้นิยาม ‘Quiet Quitting’ แบบกำปั้นทุบดิน เราอาจพูดได้ง่ายๆ ว่านี่คือแนวคิดการ “ทำงานตามเงิน” ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่คงมองว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่จะส่งผลดีในระยะยาว รวมไปถึงความเห็นของเจนเนอเรชันวัยทำงานอื่นๆ ที่อาจบอกได้ว่า หรือจริงๆ แล้วนี่ก็เป็นแค่คำเท่ๆ ที่ใช้เป็นข้อแก้ตัวให้กับความขี้เกียจของตัวเอง
การโอบรับแนวคิด ‘Quiet Quitting’ อาจต้องการความพอดีในการจัดการ เพราะสุดท้ายแล้ว ‘งาน’ กับ ‘ชีวิต’ คือสองสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ 100% และคงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับทุกคน แต่หากการทำงานของคุณกำลังทำให้คุณรู้สึกเหมือนโดนครอบด้วยกรอบแนวคิดในการทำงานที่ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจ ลองขอคำปรึกษากับหัวหน้า หรือ HR ของคุณเพื่อหาทางร่วมที่จะทำให้การจัดการที่ว่านี้เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย
และสำคัญที่สุดคือการปรึกษากับตัวคุณเอง เพราะสุดท้ายแล้วแล้วไม่มีใครสามารถมาชี้นิ้วบอกคุณได้ว่าคุณควรทำงานกี่ชั่วโมงต่อวันถึงจะพอดี หรือคุณควรแบ่งเวลาตาม Life Coach คนไหนถึงจะน่าชื่นชม แต่ตัวคุณเองคือคนเดียวที่จะสามารถเข้าใจและรักษาสมดุลระหว่าง ‘งาน’ กับ ‘ชีวิต’ ไว้ได้ก่อนที่ไฟในการทำงานของคุณจะมอดดับไปและก่อนที่ ‘Quiet Quitting’ สุดท้ายแล้วจะกลายเป็น Quitting จริงๆ
เนียนๆ quiet quitting pic.twitter.com/3oHeWXg3Eh
— บรีฟเหี้ย (@suckbrief) September 26, 2022